วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553

ดนตรีบำบัด

ย้อนกลับไปเมื่อปริญญาตรี ปีสี่ ที่มีวิชา Research and Methodology ด้วยความที่เป็นคนเล่นดนตรีในเวลานั้นหัวจึงไม่คิดเรื่องอื่นเลย ที่คิดอย่างเดียวคือต้องการทำเรื่องอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับดนตรี ที่คิดได้ก็มี วัดมุมการเคลื่อนไหวของคอในนักไวโอลินเปรียบเทียบกับคนปกติ จะดูซิว่าในนักไวโอลิน (มืออาชีพ) ที่ต้องเล่น ต้องหนีบคางตลอดความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อคอน่าจะน้อยกว่าคนปกติมั้ย แต่เมื่อเอาไปเสนอกับ Advisor กลับมาถึงกับต้องปวดหัวเลยทีเดียวเพราะมีเรื่องปัจจัยอื่นซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่ถนัดอยู่หลายเรื่องเลยทีเดียว ก็เลยหาเรื่องใหม่ก็ได้เรื่อง เปรียบเทียบระดับความจำและความไวในการตอบสนองต่อตัวกระตุ้น เปรียบเทียบกันระหว่างผู้สูงอายุที่เล่นดนตรีและไม่ได้เล่นดนตรี จำได้ว่าตอนทำวิจัยเรื่องนี้สนุกมากและก็เหนื่อยมากเหมือนกัน ที่ว่าสนุกก็คือได้ค้นหาข้อมูลใหม่ๆเกี่ยวกับการทำงานของสมอง การออกไปเก็บข้อมูลนอกสถานที่ รู้สึกสบายไม่กดดันเท่าไรเมื่อเทียบกับตอนเรียนเพราะเราได้จัดตารางงาน จัดตารางเวลาเอง คือพูดง่ายๆว่า ขี้เกียจทำก็ไม่ต้องทำ อยากทำตอนไหนแล้วค่อยทำ เราจัดเวลาให้มันชดเชยกันได้ ทำให้ช่วงปี4 เทอม2 มีเวลาเหลือค่อนข้างมาก เหลือพอให้ไปดูคอนเสิร์ท เที่ยวเล่น ได้สบาย
เมื่อจบงานวิจัยแล้วทำให้ค้นพบตัวเองได้อย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่า อยากทำอาชีพอะไร อยากเป็นนักวิชาการด้านสมองหรือไม่ก็เป็นอาจารย์สอน เพราะเรารู้สึกสนุกมากกับการได้อ่าน ได้คิดและออกแบบการทดลอง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ลืมคือด้วยความที่เป็นคนเล่นดนตรี มันน่าจะดีถ้าเราได้กลับมาทำงานวิจัยที่เกี่ยวกับทั้งสมองและดนตรีอีกครั้ง ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีหลายแบบ ที่รู้จักและกำลังเผยแพร่ก็คือ ดนตรีบำบัด (Music Therapy)

ดนตรีบำบัดตามความคิดของเรา
ต้องขอออกตัวก่อนว่า เราไม่ได้เป็นนักดนตรีบำบัดแต่เราเป็นคนหนึ่งที่เรียนทางสายวิทยาศาสตร์มาและมีความชอบในเรื่องนี้ ขออธิบายจากการได้อ่านงานวิจัยหรือการฟังบรรยายที่ผ่านมาเป็นภาษาง่ายๆว่าดนตรีบำบัดก็คือการนำดนตรีเข้ามาบำบัดอาการของโรค สังเกตด้วยว่าจะใช้คำว่าบำบัด เนื่องจากเปนการทำให้อาการของโรคบรรเทาขึ้น ไม่ได้แปลว่าอาการจะหายไป พูดอย่างนี้หลายคนคงสงสัยว่า “ อ้าว อย่างนี้ เราเป็นหวัด มีอาการปวดศีรษะ น้ำมูกไหล คัดจมูก ก็ใช้ดนตรีบำบัดได้สิ” ฝ่ายผู้เขียนบลอคก็ขอตอบเลยว่า ตามความคิดเห็นของเรา เราว่าดนตรีบำบัดยังมีขอบเขตการบำบัดอยู่มาก ไม่ใช่ว่าทุกอาการของโรคจะสามารถใช้ดนตรีบำบัดได้ ตามประสบการณ์การทำงานทางด้านกายภาพบำบัดพบผู้ป่วยหลายประเภทที่มารับบริการด้านดนตรีบำบัดเช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เด็กสมาธิสั้น ผู้ป่วยโรคเครียด โรคซึมเศร้า ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความเครียดในระดับหนึ่ง ฉะนั้นการใช้ดนตรีบำบัดจะช่วยให้ผู้ป่วยมีความผ่อนคลาย และการทำกิจกรรมดนตรีบำบัดเป็นกลุ่มนั้นจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยรู้จักการเข้าสังคมมากขึ้น ถ้าจะให้ตอบคำถามข้างบนก็คงตอบได้ว่า ดนตรีบำบัดไม่ได้ช่วยให้น้ำมูกหยุดไหล หายปวดศีรษะได้หรอก แต่อย่างน้อยก็ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น Tension ต่างๆลดลง พอที่จะบรรเทาอาการได้มากกว่า แต่เราว่าถ้าเป็นขนาดนั้นก็นอนหลับพักผ่อนซะเถอะ ฝืนสังขารอุตส่าห์ตื่นมาฟังดนตรีก็คงไม่ทำให้ดีขึ้นเพราะโรคแต่ละโรคก็มีปัจจัยต่างๆให้คำนึงถึง

ไว้มาต่อภาค 2 นะคะ

1 ความคิดเห็น: