วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553

ดนตรีบำบัด ภาค 2


พอรู้จักดนตรีบำบัดมาคร่าวๆแล้วนะคะ ภาค2 ตั้งใจจะเขียนเกี่ยวกับประโยชน์ของดนตรีบำบัดให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นโดยอ้างอิงจากงานวิจัยต่างๆที่ได้ไปอ่านทบทวนมาว่าดนตรีมีผลอย่างไรบ้าง
สิ่งแรกที่สามารถสังเกตได้ง่ายคือผลของดนตรีต่อภาวะอารมณ์ เคยสังเกตมั้ยคะว่าเวลาที่เราฟังเพลงที่มีจังหวะช้าๆ รูปแบบในเพลงซ้ำๆ เพลงที่ฟังสบายๆ เราจะรู้สึกผ่อนคลาย จากตัวอย่างงานวิจัยของ Reminton ในปี 2002 ที่ให้ผู้สูงอายุฟังดนตรีประเภท New age ครั้งละ 10 นาที พบว่าผู้สูงอายุที่ได้ฟังเพลงมีอาการกระสับกระส่ายน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ฟังและจากงานวิจัยของ กัลยาณี เจนพันธุศาสตร์ ในปี 2007 พบว่าการได้รับดนตรีบำบัดสามารถลดอาการซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้ ผลทางด้านอารมณ์อื่นๆเช่น ลดความกังวล ลดความเครียด ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจและเกิดความสงบ (Brewer JF, 1998)ช่วยปรับสภาพจิตใจให้อยู่ในสภาวะสมดุล มีมุมมองในเชิงบวกและช่วยเสริมในกระบวนการบำบัดทางจิตเวช

ผลของดนตรีต่อสมองและการเรียนรู้ ดนตรีจะช่วยกระตุ้น เสริมสร้าง และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ และความจำ กระตุ้นประสาทสัมผัส การรับรู้ เสริมสร้างสมาธิ พัฒนาทักษะการสื่อสารและการใช้ภาษา พัฒนาทักษะสังคม เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า "Mozart Effect" ที่ส่งเสริมให้เปิดเพลงของโมสาร์ทให้เด็กทารกหรือวัยเด็กตอนต้นฟังเพื่อเพิ่มความสามารถ(ในระยะสั้น)เกี่ยวกับเรื่องมิติสัมพันธ์ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประโยชน์ในข้อนี้

ผลของดนตรีต่อร่างกาย
ดนตรีช่วยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว ลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ(ศศิธร พุ่มดวง, 2005)บางรายงานกล่าวว่าช่วยเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันได้ด้วยนะคะ( Seaward BL, 1997)
ส่วนสาเหตุที่ดนตรีบำบัดทำให้เกิดประโยชน์ต่างๆตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้เนื่องจากดนตรีมีผลต่อการทำงานของสมองและร่างกายในหลายด้านเช่น จากการศึกษาวิจัยพบว่าผลของดนตรีต่อร่างกาย สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ อัตราการหายใจ อัตราการเต้นของชีพจร ความดันโลหิต การตอบสนองของม่านตา ความตึงตัวของกล้ามเนื้อและการไหลเวียนของเลือด ดังนั้นจึงมีการนำดนตรีมาประยุกต์ใช้ในการรักษาโรคภัยไข้ เจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ เกิดเป็นดนตรีบำบัดขึ้นมาคะ :-)

วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553

ดนตรีบำบัด

ย้อนกลับไปเมื่อปริญญาตรี ปีสี่ ที่มีวิชา Research and Methodology ด้วยความที่เป็นคนเล่นดนตรีในเวลานั้นหัวจึงไม่คิดเรื่องอื่นเลย ที่คิดอย่างเดียวคือต้องการทำเรื่องอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับดนตรี ที่คิดได้ก็มี วัดมุมการเคลื่อนไหวของคอในนักไวโอลินเปรียบเทียบกับคนปกติ จะดูซิว่าในนักไวโอลิน (มืออาชีพ) ที่ต้องเล่น ต้องหนีบคางตลอดความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อคอน่าจะน้อยกว่าคนปกติมั้ย แต่เมื่อเอาไปเสนอกับ Advisor กลับมาถึงกับต้องปวดหัวเลยทีเดียวเพราะมีเรื่องปัจจัยอื่นซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่ถนัดอยู่หลายเรื่องเลยทีเดียว ก็เลยหาเรื่องใหม่ก็ได้เรื่อง เปรียบเทียบระดับความจำและความไวในการตอบสนองต่อตัวกระตุ้น เปรียบเทียบกันระหว่างผู้สูงอายุที่เล่นดนตรีและไม่ได้เล่นดนตรี จำได้ว่าตอนทำวิจัยเรื่องนี้สนุกมากและก็เหนื่อยมากเหมือนกัน ที่ว่าสนุกก็คือได้ค้นหาข้อมูลใหม่ๆเกี่ยวกับการทำงานของสมอง การออกไปเก็บข้อมูลนอกสถานที่ รู้สึกสบายไม่กดดันเท่าไรเมื่อเทียบกับตอนเรียนเพราะเราได้จัดตารางงาน จัดตารางเวลาเอง คือพูดง่ายๆว่า ขี้เกียจทำก็ไม่ต้องทำ อยากทำตอนไหนแล้วค่อยทำ เราจัดเวลาให้มันชดเชยกันได้ ทำให้ช่วงปี4 เทอม2 มีเวลาเหลือค่อนข้างมาก เหลือพอให้ไปดูคอนเสิร์ท เที่ยวเล่น ได้สบาย
เมื่อจบงานวิจัยแล้วทำให้ค้นพบตัวเองได้อย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่า อยากทำอาชีพอะไร อยากเป็นนักวิชาการด้านสมองหรือไม่ก็เป็นอาจารย์สอน เพราะเรารู้สึกสนุกมากกับการได้อ่าน ได้คิดและออกแบบการทดลอง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ลืมคือด้วยความที่เป็นคนเล่นดนตรี มันน่าจะดีถ้าเราได้กลับมาทำงานวิจัยที่เกี่ยวกับทั้งสมองและดนตรีอีกครั้ง ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีหลายแบบ ที่รู้จักและกำลังเผยแพร่ก็คือ ดนตรีบำบัด (Music Therapy)

ดนตรีบำบัดตามความคิดของเรา
ต้องขอออกตัวก่อนว่า เราไม่ได้เป็นนักดนตรีบำบัดแต่เราเป็นคนหนึ่งที่เรียนทางสายวิทยาศาสตร์มาและมีความชอบในเรื่องนี้ ขออธิบายจากการได้อ่านงานวิจัยหรือการฟังบรรยายที่ผ่านมาเป็นภาษาง่ายๆว่าดนตรีบำบัดก็คือการนำดนตรีเข้ามาบำบัดอาการของโรค สังเกตด้วยว่าจะใช้คำว่าบำบัด เนื่องจากเปนการทำให้อาการของโรคบรรเทาขึ้น ไม่ได้แปลว่าอาการจะหายไป พูดอย่างนี้หลายคนคงสงสัยว่า “ อ้าว อย่างนี้ เราเป็นหวัด มีอาการปวดศีรษะ น้ำมูกไหล คัดจมูก ก็ใช้ดนตรีบำบัดได้สิ” ฝ่ายผู้เขียนบลอคก็ขอตอบเลยว่า ตามความคิดเห็นของเรา เราว่าดนตรีบำบัดยังมีขอบเขตการบำบัดอยู่มาก ไม่ใช่ว่าทุกอาการของโรคจะสามารถใช้ดนตรีบำบัดได้ ตามประสบการณ์การทำงานทางด้านกายภาพบำบัดพบผู้ป่วยหลายประเภทที่มารับบริการด้านดนตรีบำบัดเช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เด็กสมาธิสั้น ผู้ป่วยโรคเครียด โรคซึมเศร้า ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความเครียดในระดับหนึ่ง ฉะนั้นการใช้ดนตรีบำบัดจะช่วยให้ผู้ป่วยมีความผ่อนคลาย และการทำกิจกรรมดนตรีบำบัดเป็นกลุ่มนั้นจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยรู้จักการเข้าสังคมมากขึ้น ถ้าจะให้ตอบคำถามข้างบนก็คงตอบได้ว่า ดนตรีบำบัดไม่ได้ช่วยให้น้ำมูกหยุดไหล หายปวดศีรษะได้หรอก แต่อย่างน้อยก็ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น Tension ต่างๆลดลง พอที่จะบรรเทาอาการได้มากกว่า แต่เราว่าถ้าเป็นขนาดนั้นก็นอนหลับพักผ่อนซะเถอะ ฝืนสังขารอุตส่าห์ตื่นมาฟังดนตรีก็คงไม่ทำให้ดีขึ้นเพราะโรคแต่ละโรคก็มีปัจจัยต่างๆให้คำนึงถึง

ไว้มาต่อภาค 2 นะคะ

วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553

แนะนำเพลงคลาสสิกที่ฟังง่าย

เคยได้ยินเพื่อนหลายคนบอกว่าเพลงคลาสสิกฟังยาก ฟังแล้วง่วงนอน ก็เห็นด้วยส่วนหนึ่งคะ ในฐานะที่เป็นคนนึงที่เล่นดนตรีและใช้หนังสือเรียนที่เป็นโน้ตเพลงคลาสสิกซะส่วนมาก ก็รู้สึกเบื่อเหมือนกันเพราะเป็นเพลงที่ไม่คุ้นเคยแถมโน้ตยังยากอีกต่างหาก แต่ก็มีบางเพลงทีเชื่อว่าหลายคนเคยได้ยินมาแล้วแต่อาจจะไม่รู้ชื่อเพลง จริงๆแล้วเพลงคลาสสิกมีหลายเพลงที่ฟังง่ายและเพราะนะคะ คงจะมีคนเคยลองยกตัวอย่างเพลงคลาสสิกที่ฟังง่าย คุ้นหูมาบ้างแล้ว วันนี้ขออนุญาตแนะนำเพิ่มเติมนะคะ

Four Seasons ของ Vivaldi









Canon in D major ของ Pachelbel


Moonlight Sonata ของ Beethoven



Minuet in G major ของ Bach


Serenade ของ Schubert


Air on G String ของ Bach



หลายเพลงที่ยกตัวอย่างมาสังเกตว่าเป็นเพลงที่วงออเครสตร้าเล่นบ่อย บางเพลงก็ถูกนำมาประกอบภาพยนตร์ โฆษณา หรือคุ้นหูในงานแต่งงานก็มีคะ ก่อนฟังอย่าเพิ่งอคติไปก่อนนะคะว่าฟังยาก ไม่เพราะ ลองเปิดใจฟังดูก่อนคะ ที่กล้าพูดอย่างนี้เพราะว่าในหนังสือเรียนไวโอลิน Suzuki ก็มีเพลงที่ตอนแรกฟังแล้วรู้สึกว่าฟังยาก ไม่เพราะเหมือนกันคะ แต่พอลองเล่น ลองฟังซ้ำหลายๆครั้ง ก็เริ่มรู้สึกว่าเพราะดีเหมือนกันนะ แต่เพลงที่คัดมาเป็นตัวอย่างวันนี้ไม่ต้องถึงกับต้องฟังซ้ำหลายๆรอบหรอกคะ เพราะส่วนใหญ่คุ้นหู เป็นเพลงฟังง่าย สบายๆอยู่แล้ว

ขอให้มีความสุขกับการฟังเพลงนะคะ