วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2553

ดนตรีบำบัด ภาค 2


พอรู้จักดนตรีบำบัดมาคร่าวๆแล้วนะคะ ภาค2 ตั้งใจจะเขียนเกี่ยวกับประโยชน์ของดนตรีบำบัดให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นโดยอ้างอิงจากงานวิจัยต่างๆที่ได้ไปอ่านทบทวนมาว่าดนตรีมีผลอย่างไรบ้าง
สิ่งแรกที่สามารถสังเกตได้ง่ายคือผลของดนตรีต่อภาวะอารมณ์ เคยสังเกตมั้ยคะว่าเวลาที่เราฟังเพลงที่มีจังหวะช้าๆ รูปแบบในเพลงซ้ำๆ เพลงที่ฟังสบายๆ เราจะรู้สึกผ่อนคลาย จากตัวอย่างงานวิจัยของ Reminton ในปี 2002 ที่ให้ผู้สูงอายุฟังดนตรีประเภท New age ครั้งละ 10 นาที พบว่าผู้สูงอายุที่ได้ฟังเพลงมีอาการกระสับกระส่ายน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ฟังและจากงานวิจัยของ กัลยาณี เจนพันธุศาสตร์ ในปี 2007 พบว่าการได้รับดนตรีบำบัดสามารถลดอาการซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้ ผลทางด้านอารมณ์อื่นๆเช่น ลดความกังวล ลดความเครียด ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจและเกิดความสงบ (Brewer JF, 1998)ช่วยปรับสภาพจิตใจให้อยู่ในสภาวะสมดุล มีมุมมองในเชิงบวกและช่วยเสริมในกระบวนการบำบัดทางจิตเวช

ผลของดนตรีต่อสมองและการเรียนรู้ ดนตรีจะช่วยกระตุ้น เสริมสร้าง และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ และความจำ กระตุ้นประสาทสัมผัส การรับรู้ เสริมสร้างสมาธิ พัฒนาทักษะการสื่อสารและการใช้ภาษา พัฒนาทักษะสังคม เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า "Mozart Effect" ที่ส่งเสริมให้เปิดเพลงของโมสาร์ทให้เด็กทารกหรือวัยเด็กตอนต้นฟังเพื่อเพิ่มความสามารถ(ในระยะสั้น)เกี่ยวกับเรื่องมิติสัมพันธ์ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประโยชน์ในข้อนี้

ผลของดนตรีต่อร่างกาย
ดนตรีช่วยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว ลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ(ศศิธร พุ่มดวง, 2005)บางรายงานกล่าวว่าช่วยเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันได้ด้วยนะคะ( Seaward BL, 1997)
ส่วนสาเหตุที่ดนตรีบำบัดทำให้เกิดประโยชน์ต่างๆตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้เนื่องจากดนตรีมีผลต่อการทำงานของสมองและร่างกายในหลายด้านเช่น จากการศึกษาวิจัยพบว่าผลของดนตรีต่อร่างกาย สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ อัตราการหายใจ อัตราการเต้นของชีพจร ความดันโลหิต การตอบสนองของม่านตา ความตึงตัวของกล้ามเนื้อและการไหลเวียนของเลือด ดังนั้นจึงมีการนำดนตรีมาประยุกต์ใช้ในการรักษาโรคภัยไข้ เจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ เกิดเป็นดนตรีบำบัดขึ้นมาคะ :-)